หวยออก
หวยออก
แม้โอกาสที่จะถูกรางวัลสลากฯ จะมีเพียง 1.42% (รวมทุกรางวัล) แต่ในงวดสลากดิจิทัลวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ซื้อสลากฯถึง 26 ล้านฉบับ ทำให้มีเงินที่หมุนเวียนสลากฯและหวยใต้ดินแสนล้านบาท รางวัลใหญ่ที่จูงใจ ลงทุนเพียงไม่กี่ร้อยบาทแต่ได้ลุ้นเงินรางวัลหลักล้านก็คุ้มค่าที่จะลองเสียงทายดู แม้จะรู้ในใจลึก ๆ ว่าโอกาสที่จะถูกรางวัลนั้นมีน้อยมาก แต่ก็เป็นความหวังเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตที่แสนเหนื่อยในแต่ละวัน
การเสี่ยงโชคยอดฮิตติดท็อปของคนไทย คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล และ หวยใต้ดิน
สลากกินแบ่งรัฐบาล คือล็อตเตอรีชนิดหนึ่งในประเทศไทย ผู้ที่ต้องการจะขายต้องขออนุญาตจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อน ปัจจุบันมี 2 ประเภทให้เลือกซื้อคือ 1) L6 (Lottery L6) หรือ สลากฯหกหลักที่วางขายทั้งบนแผงล็อตเตอรี่และรูปแบบสลากดิจิทัล 2) N3 (Numbers 3) เป็นสลากรูปแบบใหม่ ประกอบด้วยหมายเลขให้เลือก 3 หลัก จำหน่ายเฉพาะรูปแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง (อยู่ในช่วงระยะแซนด์บ็อกซ์)
ส่วนหวยใต้ดิน คือสลากที่จัดตั้งกันเองภายในชุมชน เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้เล่นเขียนตัวเลขที่ต้องการ 2-3 หลักลงในโพย มีคนคอยรวบรวมโพยส่งเจ้ามือหวย ออกรางวัลจากเลขรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งอัตรารางวัลไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเจ้ามือ
สำหรับบางคนหวยอาจเป็นเพียงการซื้อความสนุก ความตื่นเต้นในสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่สำหรับบางคนชีวิตที่ฝันอาจไกลเกินเอื้อม หวยจึงเป็นความหวังที่เหลือในการจะไปถึงชีวิตในฝัน บางคนซื้อหวยจากความรู้สึกว่าตนเองกำลังมีโชค มีเลขโปรดหรือมีเลขเด็ด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เห็นได้บ่อยในสังคมไทย เช่น การฝันเห็นเลขเด็ด, ได้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์, ทาแป้งขอเลข, ฯลฯ ล้วนทำให้รู้สึกว่าโชคลาภของตนเพิ่มขึ้น และนี่คือโอกาสที่จะซื้อหวย
เหตุผลอื่น ๆ เช่น ซื้อเพราะต้องการถอนทุนคืน หลายคนอาจคิดว่าเมื่อเล่นแล้วไม่ถูกรางวัล หากหยุดเล่น เงินที่เสียไปก็เสียเปล่า ไม่ได้อะไรกลับมา หรือซื้อเพราะคนรอบข้างซื้อ เพราะคนใกล้ตัวพูดคุยกันจนทำให้เรามีความสนใจอยากจะซื้อบ้าง แน่นอนว่า การเสียเงินซื้อสลากฯ เพื่อความตื่นเต้นโดยไม่กระทบรายจ่ายอื่น ย่อมไม่สร้างปัญหา แต่หากยึดติดมากเกินก็ทำให้กลายเป็นติดการพนันจนสูญทรัพย์และอยู่ในวังวนของความยากจนเรื่อยไป
สมาคมขอร่วมสนับสนุนให้คนไทยทำงานทำการ เรียนรู้เรื่องความรู้ทางการเงินเพื่อหลุดออกจากความยากจน และลุ้นสลากฯกินแบ่งแต่พองาม!
ร่วมส่งเสริมกิจกรรมของสมาคมเพื่อขับเคลื่อนสังคมที่ยั่งยืนได้ที่ ig: @ysda_thailand และ Facebook: YSDA-Young Thai for Sustainable Development Association